20 พฤศจิกายน 2567

สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ รุ่นที่ 15


วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567ที่สโมสรสราญสินธพ กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ นางพัชรี  ศาลาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานใ1นพิธีเปิดการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ รุ่นที่ 15 โดยนายเด่นณรงศ์ ธรรมมา นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ จังหวัดเพชรบูรณ์ รายงานวัตถุประสงค์การฝึกอบรมฯ เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้เรียนรู้ เข้าใจถึงระเบียบกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เทคนิคการบริหารงานสมัยใหม่ และวิธีปฏิบัติงานที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถนำความรู้และประสบการณ์ จากการฝึกอบรมไปพัฒนาพื้นที่ ดูแลความเป็นอยู่ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ และสถานที่ วิทยาลัยการปกครอง จึงสามารถดำเนินการได้เพียงแค่กำนันและผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะดำเนินการฝึกอบรมให้แก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ได้ 

สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้นำหลักสูตรการฝึกอบรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ของวิทยาลัยการปกครอง มาปรับปรุง ต่อยอด ขยายผล โดยการจัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ซึ่งได้มีการดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว จำนวน 14 รุ่น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 3,360 คน โดยการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวนทั้งสิ้น 267 คน ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนวิทยากร อุปกรณ์ และสถานที่ จากที่ทำการปกครองจังหวัดเพชรบูรณ์ กองพันทหารม้าที่ 18 กองพลทหารม้าที่ 1 กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ และวิทยากรจิตอาสา 904

โอกาสนี้ ได้มีการมอบรางวัลให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 14 ที่มีผลคะแนนการสอบดีเยี่ยม ลำดับที่ 1 ถึง 5 ชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวจันทร์ทิมา เปอร์ดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ และนางณัฐพร แสงกันยา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลท่าแดง อำเภอหนองไผ่ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 นางสาวกิ่งมณี วังคีรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 11 ตำบลตะเบาะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ รองชนะเลิศอันดับที่ 2 นายเอกชัย พักตร์ใส ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลท่าแดง อำเภอหนองไผ่ รองชนะเลิศอันดับที่ 3 นายอุดม ปิ่นพุก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์พร้อมกับมอบเงินสวัสดิการให้กับทายาทผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย

12 พฤศจิกายน 2567

ตำบลวังกวางจัด " วันเปิดเส้นทางวัดใจ น้ำหนาว - ผาหล่มสัก วันเดย์ทริปพิชิตยอดภูกระดึง "

นายธวัช ชุมหิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังกวาง เปิดเผยว่า  องค์การบริหารส่วนตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ กำหนดจัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในตำบลวังกวาง " วันเปิดเส้นทางวัดใจ น้ำหนาว - ผาหล่มสัก วันเดย์ทริปพิชิตยอดภูกระดึง " ประจำปี พ.ศ. 2567-2568 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ บ้านฟองใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้น ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเกิดความสนใจที่จะมาเที่ยวภูกระดึงฝั่งบ้านฟองใต้ อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งสามารถขึ้นฝั่งบ้านฟองใต้แล้วลงฝั่งอำเภอภูกระดึง หรือจะขึ้นฝั่งอำเภอภูกระดึงแล้วลงฝั่งบ้านฟองใต้นับว่าเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ไห้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

องค์การบริหารส่วนตำบลวังกวาง จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในตำบลวังกวาง " วันเปิดเส้นทางวัดใจ น้ำหนาว - ผาหล่มสัก วันเดย์ทริปพิชิตยอดภูกระดึง " ประจำปี พ.ศ. 2567-2568 โดยมีกำหนดการ ดังนี้ วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 0800-0830 ลงทะเบียนผู้มาร่วมงานทุกท่าน เวลา 0900-0930 น. - เปิดกิจกรรม"เปิดเส้นทางวัดใจ น้ำหนาว-ผาหล่มสัก วันเดย์ทริปพิชิตยอดภูกระดึง"  โดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เวลา 1000น.เดินทางขึ้นภูกระดึง - ผาหล่มสัก เวลา 1600น.เดินทางกลับถึงกองอำนวยการ

จังหวัดเพชรบูรณ์จัดวันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานลดการประสบอันตรายและโรคเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567ที่ห้องประชุมวิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบูรณ์ ต.ในเมือง อ. เมืองเพชรบูรณ์ นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2567 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องในวันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี โดยนายพิทักษ์ คงสิบ ประธานชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถานประกอบกิจการต้องจัดให้มี “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อลดการประสบอันตรายและโรคเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งต่อมาได้เกิดองค์กรภาคีเครือข่าย และชมรมของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานต่างๆขึ้นทั่วประเทศ อันมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนและการมีส่วนร่วมพัฒนางานด้านความปลอดภัยในการทำงาน 

ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบดังกล่าว จึงกำหนดจัดกิจกรรมขึ้นซึ่งประกอบด้วยการให้ความรู้ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน การปฐมพยาบาลและการช่วยชีวิต โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบูรณ์ และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานและพนักงาน จำนวน 200 คน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก นายสายชล ชมภู ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าของสถานประกอบกิจการ พนักงานและภาคีเครือข่าย เป็นอย่างดี


09 พฤศจิกายน 2567

องคมนตรีตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์  57 จังหวัดเพชรบูรณ์ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ตรวจเยี่ยมคณะครูอาจารย์ และนักเรียน พร้อมติดตามการดำเนินงานของ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์  57  จังหวัดเพชรบูรณ์  โดยมี นายชนก มากพันธุ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  กล่าวต้อนรับ  นายพีรวัส นาคประสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ราชประชานุเคราะห์  57  รายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียน  พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาด ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ และร่วมประชุม

โดยนายพีรวัส นาคประสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ราชประชานุเคราะห์  57 ได้รายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียน ว่า มีรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โรงเรียนแห่งความสุข : RPK 5รัก7ดี HAPPY MODEL   นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด  ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้นักเรียนมีผลการประเมินระดับดีขึ้นไป  มีผลการทดสอบระดับชาติสูงกว่าปีการศึกษาที่ผ่านมา  โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57  จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดการเรียนการสอนในด้านวิชาการและงาน วิชาชีพอย่างชัดเจนมีการจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นที่รู้จักในชุมชน มีนวัตกรรม/การปฏิบัติที่เป็นเลิศ/แหล่งเรียนรู้ภายในสถานศึกษา อาทิ การเรียนรู้การพัฒนาสมาธิและอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ด้วยจินตคณิต  การพัฒนางานโภชนาการและสุขาภิบาลอาหาร การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน   และได้รายงาน ปัญหา และอุปสรรค ข้อเสนอแนะ และ ความต้องการการช่วยเหลือ ซึ่งโรงเรียนต้องการแหล่งพลังงานทางเลือกพลังงานแสงอาทิตย์ (Sola Cell) เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนกระแสไฟฟ้าในการทำกิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ มีความต้องการสร้างความปลอดภัยรอบโรงเรียนและภายในหอพัก และ ต้องการปรับปรุง ซ่อมบำรุง อุปกรณ์ระบบประปาของโรงเรียน   จากนั้น พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการความเป็นเลิศทางวิชาการ ผลงานของนักเรียน   และ เข้าตรวจเยี่ยมนักเรียน  รับชมการแสดงระบำศรีเทพ พร้อมมอบโอวาทให้กับนักเรียน  ณ  หอประชุมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์  57 จังหวัดเพชรบูรณ์

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโรงเรียนประเภทอยู่ประจำกินนอน แบบสหศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 1/9 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านโตก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ 574  ไร่ 3 งาน 39.5  ตารางวา เดิมชื่อโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เพชรบูรณ์ สังกัดกองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ที่มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ การแสดงออกด้านดนตรีและนาฏศิลป์พื้นเมือง ปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทักษะการดำรงชีวิต และยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด  643  คน มีบุคลากร รวม 84  คน มี นายพีรวัส นาคประสงค์  เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์


08 พฤศจิกายน 2567

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน พระสงฆ์ วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบูรณ์

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษา ณ วัดมหาธาตุพระอารามหลวง   ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์  โดยมี นายชนก  มากพันธุ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  หัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชน  เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก 

โดยพิธีเริ่มจาก ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นเปิดกรวยกระทงดอกไม้ และเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน เข้าสู่พระอุโบสถ วางผ้าพระกฐินที่พานแว่นฟ้าหน้าพระสงฆ์รูปที่ 2 จุดรูปเทียนบูชาพระประธานประจำพระอุโบสถ ประธานพิธีไปที่พานแว่นฟ้า หยิบผ้าห่มพระประธานมอบให้เจ้าหน้าที่ กล่าวนะโม 3 จบ และ กล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน  วางผ้าพระกฐินบนพานแว่นฟ้า ยกทั้งพานประเคนพระสงฆ์รูปที่  2  ประเคนเทียนพระปาติโมกข์  พระสงฆ์กระทำพิธีอปโลกนกรรมและลงไปครองผ้า  ประธานในพิธีถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่ พระสงฆ์องค์ครอง ผู้ร่วมพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแต่พระสงฆ์  อ่านคำประกาศถวายจตุปัจจัยแต่พระสงฆ์และบำรุงพระอาราม   ประธานพิธีถวายใบปวารณาแด่เจ้าอาวาส  พระสงฆ์อนุโมทนา และถวายอดิเรก  จากนั้น  ประธานในพิธีมอบทุนการศึกษาแก่โรงเรียนพระปริยัติสามัญวัดมหาธาตุ  วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบูรณ์    โรงเรียนเทศบาล  3 (ชาญวิทยา)  และ โรงเรียนเนินพิทยาคม   เป็นอันเสร็จพิธี  โดย มียอดกฐิน รวมจำนวนทั้งสิ้น  3,705,645 บาท 

การทอดกฐินเป็นประเพณีสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดมายาวนาน  ซึ่งกฐินกาลมีกำหนดระยะเวลา   คือ ระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี พุทธศาสนิกชนจะร่วมทำบุญถวายผ้ากฐิน เพื่อเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรือง  โดยกฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระกฐินให้แก่หน่วยงานราชการ องค์กร คณะบุคคล หรือบุคคลผู้ประสงค์ขอรับพระราชทานนำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง ทั้งกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด 

กินสตอเบอรี่เพชรบูรณ์ปลอดภัย เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์แทนสารเคมี เสนอรับรอง GAP

จังหวัดเพชรบูรณ์เก็บตัวอย่างสตรอว์เบอร์รี่ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการปรับเปลี่ยนใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี”เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย”

ที่แปลงปลูกสรอว์เบอร์รี่เกษตรกรบ้านทับเบิก อำเภอหล่มเก่า และแปลงเกษตรกรอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสตรอว์เบอร์รี่ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการปรับเปลี่ยนใช้ชีวภัณฑ์ทดแทน บริเวณภูทับเบิก ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า และแปลงของเกษตรกรพื้นที่อำเภอเขาค้อ เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดเชื้อรา สานตกค้างยาฆ่าแมลง 2 กลุ่มสาร ส่งตรวจที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ โดยการเก็บตัวอย่างจะทำการเก็บ จำนวน 4 ครั้ง ใช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม และเดือนมกราคม ซึ่งแปลงที่ตรวจผ่านจะได้รับป้ายประชาสัมพันธ์แปลงนี้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี และสติ๊กเกอร์ติดกล่อง เพื่อรับรองว่าปลอดสารเคมี

โครงการนี้จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์และหน่วยงานด้านการเกษตรได้ร่วมกันจัดทำขึ้นหลังจากพบว่ามีสารเคมีตกค้างในผลสตรอว์เบอร์รี่จำนวนมาก เป็นอันตรายต่อผู้บริโภครวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกเองด้วย จึงได้จัดทำโครงการและอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวภัณฑ์แทนสารเคมี ซึ่งมีราคาถูกกว่ากันถึงสามเท่า ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ลงมาก โดยมีทางเกษตรจังหวัด สนับสนุนวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูก การดูแลผลผลิต และประสานบริษัทพีโก้ พรีเมี่ยม เฟรช จำกัด รับซื้อผลผลิต จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและผ่านมาตรฐาน แปลงที่เข้าร่วมโครงการเมื่อผ่านการตรวจแล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์รับรองความปลอดภัยจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และจะเสนอกรมวิชาการเกษตร รับรอง GAP ต่อไป

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคส่งมอบหลอดไฟ LED และปรับปรุงระบบไฟฟ้าอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง

วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567  นายเมธี  บุญพรหม ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 ลพบุรี  เป็นประธานมอบหลอดไฟ LEDและปรับปรุงระบบไฟฟ้าบริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมืองโดยมีพระอาจารย์ปารมีวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว นายภาคภูมิ  ภูมี  นายอำเภอหล่มสัก คณะกรรมการมูลนิธิพ่อขุนผาเมือง   ประธานหอการค้า ให้การต้อนรับ    

นายสุชาติ  ล้ออุไร  ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหล่มสัก กล่าวรายงานว่า การดำเนินการจัดกิจกรรมโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้มีการประหยัดพลังงาน ทำนุบำรุงศาสนา ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้า บำรุงรักษาระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และยังทำให้อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมืองแห่งนี้ ส่องสว่างสวยงามมากยิ่งขึ้น ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมืองของเรากำลังลงทุนในอนาคตที่ยั่งยืนของลูกหลาน ด้วยการเลือกใช้พลังงานสะอาด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวจากนั้นได้มีพิธีเปิดไฟ LED ที่ติดตั้งให้ใหม่และลั่นฆ้องเอาฤกษ์เอาชัย

สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ รุ่นที่ 15

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567ที่สโมสรสราญสินธพ กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ นางพัชรี  ศาลาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพช...